ภาวะมีบุตรยาก ปัจจุบันเราพบว่าในบรรดาคู่สามีภรรยาทั้งหลาย จะมีปัญหามีบุตรยากประมาณ 15 % คือทุก 100 คู่ จะมีสามีภรรยา ที่มีปัญหามีบุตรยาก 15 คู่ ความหมาย คำว่ามีบุตรยาก ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสมีบุตรได้ แต่หมายความว่ามีโอกาสมีบุตรน้อยกว่าปกติ หรือช้ากว่าปกติ เราพบว่าคู่สามีภรรยา ทีมีเพศสัมพันธ์กันตามปกติ สัปดาห์ละอย่างน้อย 2-3 วัน โดยไม่ได้คุมกำเนิด จะมีการตั้งครรภ์ 50 % ภายใน 5 เดือน และการตั้งครรภ์ เพิ่มขึ้นเป็น 80-90 % ในเวลา 1 ปี ส่วนที่เหลือจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลง และจัดอยู่ในกลุ่มภาวะมีบุตรยาก
ปัจจัยที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์
- ฝ่ายชายต้องมีการสร้างเชื้ออสุจิเข้ามาในน้ำอสุจิได้ปกติ ทั้งในแง่ของจำนวนการเคลื่อนไหว และรูปร่าง
- ฝ่ายหญิงต้องมีการตกไข่ปกติ และมีท่อนำไข่ปกติ ที่ให้ไข่เดินทางเข้าและผ่านไปได้
การมีบุตรง่ายหรือยาก เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง
คู่สามีภรรยาโดยทั่วไปมี 4 ปัจจัยใหญ่ ๆ ที่จะทำให้มีการตั้งครรภ์เร็วหรือช้าคือ
- อายุของภรรยา พบว่าสตรีอายุ 25 ปี จะมีการตั้งครรภ์ได้ง่ายกว่า คือ ใน 100 คู่จะตั้งครรภ์ได้ 50 คู่ ใน 5 เดือน 75 คู่ใน 10 เดือน และอายุที่มากขึ้น กว่า 25 ปี ทุก ๆ 5 ปี จะต้องใช้เวลายาวขึ้นเกือบเท่าตัว
- อายุของสามี คล้ายกับสตรี คือ สามีอายุ 25 ปี จะสามารถทำให้ภรรยาตั้งครรภ์ได้ 75% ภายใน 1 ปี แต่จะอายุสามี 40 ปีขึ้นไป จะสามารถทำให้ภรรยาตั้งครรภ์ได้เพียง 25 % ภายใน 1 ปี
- ความบ่อยของการมีเพศสัมพันธ์ อัตราการตั้งครรภ์เมื่อเปรียบเทียบความถี่ของการตั้งครรภ์ดังนี้คือ จำนวนครั้ง/สัปดาห์ การตั้งครรภ์ภายใน 6 เดือน
-
- 1 ครั้งคิดเป็น 25%
- 2 ครั้งคิดเป็น 33%
- 3 ครั้งคิดเป็น 50%
- 4 ครั้งหรือมากกว่าคิดเป็น 60%
ระยะเวลาของการพยายามมีบุตร คู่สามีภรรยาที่พยายามมีบุตรโดยการมีเพศสัมพันธ์ที่ถี่และสม่ำเสมอ พบว่าตั้งครรภ์ได้ 15% ในเดือนแรก 50% ใน 6 เดือน 75% ใน 1 ปี 90% ใน 2 ปี และมากกว่า 95% ใน 3 ปี
ขั้นตอนการรักษาภาวะมีบุตรยาก
- พบแพทย์ เพื่อเตรียมตัวตั้งครรภ์และปรึกษาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายโดยละเอียด ประวัติการเจ็บปวดของครอบครัว ลักษณะการมีประจำเดือน การร่วมหลับนอนกับสามี รวมทั้งการตรวจภายในเพื่อดูว่าสุขภาพร่างกายของท่านปกติดีหรือไม่
- ตรวจเลือดดูสภาพการทำงานระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของร่างกาย และการตรวจฮอร์โมนเพื่อตรวจสภาพการทำงานของรังไข่ และอวัยวะที่เกี่ยวข้อง
- สำหรับการตรวจภายในฝ่ายชายที่สำคัญมีอย่างเดียวคือ การตรวจความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิ มักแนะนำให้ตรวจหลังจากว่างเว้นการหลับนอนกับภรรยา 3 – 7 วัน ถ้าพบว่าผิดปกติ ก็จะมีการรักษาขั้นตอนต่อไป
ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยากวิภาวดี ได้จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาพร้อมเครื่องมือ ทางการแพทย์ที่ทันสมัยไว้คอยบริการคู่สมรส ที่มีปัญหา สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ห้องตรวจสูติ-นรีเวช ชั้น 2 อาคาร 2 รพ.วิภาวดี โทร 0-2941-2800,0-2941-2900 ต่อ 2228